ความหมาย

image1

ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ วิธีการ ผลงานที่คนไทยได้ศึกษา เก็บรวบรวมความรู้
และจัดเป็นองค์ความรู้ ปรับปรุง พัฒนา ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลดีงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ นำไปแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

http://e-learning.e-tech.ac.th/learninghtml/s1301/unit011.html

“ภูมิปัญญา” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Wisdom มีความหมายว่า ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรม และความสามารถในการแก้ปัญหาของมนุษย์ (เอกวิทย์ ณ ถลาง. 2540: 11) ความรู้และความคิดของมนุษย์นั้น เมื่อได้รับการถ่ายทอด สั่งสม ปรับปรุง ดัดแปลง และสืบทอดกันมาหลายชั่วบรรพบุรุษ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามีคุณค่า ละเอียด ประณีต มีลักษณะแสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มชนหรือชนชาตินั้น ๆ เรียกว่า “ภูมิปัญญา” แม้ว่าตามศัพท์ ภูมิปัญญา จะแปลวว่า พื้นความรู้ ความสามารถ แต่โดยความหมายที่แท้จริงก็คือ ต้องเป็นสิ่งที่มีการสั่งสม ยอมรับ และสืบทอดมาสู่สังคมมนุษย์นั้น ๆ แสดงถึงอัจฉริยภาพของกลุ่มชนหรือชนชาตินั้น ๆ “ภูมิปัญญา” คือ พื้นความรู้ของประชาชนในสังคมนั้น ๆ และโดยสังคมนั้น ๆ ปวงชนในสังคมยอมรับรู้ เชื่อใจ เข้าใจร่วมกัน รวมเรียกว่า ภูมิปัญญา ฉะนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจะหมายถึง ความรอบรู้ของชาวบ้านที่เรียนรู้และมีประสบการณ์ต่อกันมาทั้งทางตรง คือ ประสบด้วยตนเองหรือทางอ้อมโดยการเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ความรอบรู้สะสมเหล่านี้เรียกว่า ภูมิปัญญา (ชลทิต เอี่ยมสำอางค์และวัศนี ศีลตระกูล. 2533)
“ภูมิปัญญา” คือ กระบวนการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตของบุคคลซึ่งอยู่ใน ท้องถิ่นโดยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสงบสุขสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัยนั่นเอง บุคคลที่สามารถปรับแผนชีวิตนี้เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้านหรือปราชญ์ท้องถิ่น
“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” Local Wisdom ภูมิปัญญาท้องถิ่นสะสมขึ้นมาจากประสบการณ์ของชีวิต สังคม และสภาพสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และถ่ายทอดสืบทอดต่อกันมาเป็นวัฒนธรรม (ประเวศ วะสี. 2543)
“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” Local Wisdom หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของคนเราที่ผ่านกระบวนการศึกษา สังเกต คิด วิเคราะห์ จนเกิดปัญหาและตกผลึกมาเป็นองค์ความรู้ที่ประกอบขึ้นมาจากความรู้เฉพาะหลาย ๆ เรื่องโดยไม่ได้แยกย่อยออกมาเป็นศาสตร์เฉพาะสาขาวิชา จึงจัดเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้สมัยใหม่ ๆ ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัวในการดำเนินชีวิต (กรมวิชาการ. 2538)
“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” Local Wisdom หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน (Indigenous Knowledge) คือ ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของคนเราที่ผ่านกระบวนการศึกษา สังเกต คิดวิเคราะห์ จนเกิดปัญญาและตกผลึกมาเป็นองค์ความรู้ที่ประกอบขึ้นมาจากความรู้เฉพาะเรื่อง ไม่ได้แยกย่อยออกมาให้เห็นเป็นศาสตร์เฉพาะสาขาวิชาต่าง ๆ จึงจัดเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ใหม่ ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการ และการปรับตัวในการดำเนินชีวิต (กรมวิชาการ. 2538)               “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” สะสมขึ้นมาจากประสบการณ์ของชีวิตสังคมและในสภาพสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรม การดำเนินงานด้านวัฒนธรรมจึงต้องใช้ปัญญาค้นหาสิ่งที่มีอยู่แล้ว ฟื้นฟู ประยุกต์ และประดิษฐ์ เสริมสร้างสิ่งใหม่ บนรากฐานสิ่งเก่าที่ค้นพบนั้น นักฟื้นฟู นักประยุกต์ และนักประดิษฐ์คิดค้นทางวัฒนธรรมพื้นบ้านเหล่านี้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” หรือ “ผู้รู้ชาวบ้าน” และสติปัญญาที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์นี้เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2534)
“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” หมายถึง กระบวนการทางปัญญา ความคิดเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระแสความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ จิตใจและพฤติกรรม สังคม องค์กรและวัฒนธรรมชุมชน เศรษฐกิจ เทคโนโลยีการผลิต และในที่สุดการ พึ่งตนเอง (เสนห์ จามริก. 2532)
“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” มักเกิดจากการสะสมเรียนรู้มาเป็นระยะเวลานาน มันเชื่อมโยงกันไปหมด ไม่แยกจากกันเป็นวิชาอย่างที่เราเรียก ภูมิปัญญาชาวบ้านต่างจากองค์ความรู้ตรงที่เรามีหนังสือทฤษฎีความรู้มากมายมาอ้างอิงได้ ภูมิปัญญาชาวบ้านมีขั้นตอน 3 อย่าง คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฎิเวธ (อเนก นาคะบุตร. 2531)
“ภูมิปัญญาไทย” Thai Wisdom หมายถึง ความรู้ ความสามารถ วิธีการ ผลงานที่ค้นคว้ารวบรวมและจัดเก็บเป็นความรู้ โดยถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นผลผลิตที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตได้ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฉบับกาญจนาภิเษกเล่ม 23)
“ภูมิปัญญาไทย” หมายถึง ความรู้และความสามารถของคนไทยที่ได้รับการถ่ายทอด สั่งสม ปรับปรุงดัดแปลง และสืบทอดกันมาหลายชั่วบรรพบุรุษ สู่ลูกหลานไทยปัจจุบัน มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงความรู้และพัฒนาการแห่งความคิดออกเป็นวิธีการ นวัตกรรม หรือผลิตผลปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน หรือหมายถึง โครงร่างแห่งความรู้ ความสามารถ และทักษะของคนไทยที่สะสมมาเป็นเวลานาน ผ่านประสบการณ์ การเรียนรู้ การพัฒนา และการถ่ายทอดนั้นได้ช่วยในการแก้ปัญหาและสนับสนุนในการพัฒนาชีวิตของประชาชนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของเวลาและสิ่งแวดล้อม (รุ่ง แก้วแดง. 2544)
“ภูมิปัญญาไทย” หมายถึง ผลของประสบการณ์ที่สั่งสมของคนที่เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเดียวกัน และระหว่างกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์รวมไปถึงโลกทัศน์ที่มีต่อสิ่งหนือธรรมชาติต่าง ๆ ภูมิปัญญาเหล่านี้เคยเอื้ออำนวยให้คนไทยแก้ปัญหาได้ ดำรงอยู่และสร้างสรรค์อารยธรรมของเราเองได้อย่างมีดุลยภาพกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในระดับพื้นฐาน หรือระดับชาวบ้าน ภูมิปัญญาในแผ่นดินได้เกิดขึ้นเป็นเอกเทศ แต่มีส่วนแลกเปลี่ยน เลือกเฟ้น และปรับใช้ภูมิปัญญาจากอารยธรรมอื่นตลอดมา (เอกวิทย์ ณ ถลาง)
“ภูมิปัญญาไทย” หมายถึง องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ของการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับแนวความคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของตนเอง จนเกิดหลอมรวมเป็นแนวความคิดในการแก้ปัญหาที่เป็นลักษณะของตนเอง ที่สามารถพัฒนาความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ในการแก้ปัญหาการดำรงชีวิต (เสรี พงศ์พิศ)
จากความหมายของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กล่าวมาข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง พื้นความรู้ องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดและสั่งสมประสบการณ์ และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรม ช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการ และปรับตัวในการดำเนินชีวิต

http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/evolution_of_thai_art/11.html